วัดจองกลาง ของ วัดจองคำ (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)

วัดจองกลาง เรียกเช่นนี้เพราะตั้งอยู่ระหว่างวัดจองคำ และวัดจองใหม่ (โรงเรียนพระปริยัติธรรม) เดิมเป็นศาลาที่พักคนมาจำศีลในวันพระ เมื่อเจ้าอาวาสวัดจองใหม่รูปสุดท้ายได้มรณภาพไป มีพระภิกษุจากเมืองหมอกใหม่มาร่วมงานศพเจ้าอาวาสวัดจองใหม่ และเข้ามาพักอาศัยในศาลาเย็นดังกล่าว คณะศรัทธาเคารพนับถือพระภิกษุองค์นี้เป็นอย่างมาก จึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านมาประจำศาลาต่อไป จนเมื่อ พ.ศ. 2410 ลุงจองจายหล่อ, ลุงพหะจ่า, ลุงจองตุ๊ก, พ่อเลี้ยงจางนุ (ขุนเพียร) และลุงจองจ่อ ได้ร่วมกันสร้างวัด หลังคามุงด้วยสังกะสีฉลุลวดลายแบบสถาปัตยกรรม โดยช่างฝีมือชาวไทใหญ่ โดยเฉพาะห้องทางด้านหลังทิศตะวันออก ตามฝาผนังประดับภาพรวม 180 ภาพ โดยมีช่างฝีมือช่างพม่า เมื่อสร้างเสร็จเรียกว่า "วัดจองกลาง" ปีต่อมาพ่อเลี้ยงจางนุ (ขุนเพียร) แม่จองเฮือน มีจิตศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ ฐานสี่เหลี่ยม มุขสี่ด้าน แต่ละด้านสร้างสิงห์ไว้ 1 ตัว พร้อมกับสร้างศาลาวิปัสสนาติดองค์พระธาตุเจดีย์ ทิศตะวันออกหลังคาทรงปราสาททำด้วยสังกะสีฉลุลวดลาย เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2456[4]

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการประกาศรวมวัดจองกลางกับวัดจองคำเป็นวัดเดียวกันตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2517 มีนามว่า "วัดจองคำ"[5]

อาคารเสนาสนะของวัดจองกลาง ได้แก่ เจดีย์วิหารเล็กด้านหน้าศาลาการเปรียญติดหนองจอง สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับการสร้างวัดจองกลาง เจดีย์วิหารมีหลังคาเรือนยอดทรงปราสาทซ้อนถึงห้าชั้น ส่วนยอดของหลังคาที่สูงที่สุดประดับด้วยฉัตรทองสามชั้น หลังคามุงสังกะสี มีโลหะฉลุลายตกแต่งตามส่วนต่าง ๆ ของหลังคาและเชิงชาย วิหารใหญ่เป็นอาคารอเนกประสงค์ คือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ใช้ประกอบพิธีกรรมงานบุญประเพณี จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเป็นหอฉันและกุฏิของเจ้าอาวาส